การออมเงิน

Banner - Mahalai - Fin-03.jpg

เปลี่ยนจาก “ใช้จ่ายก่อน... เหลือเท่าไหร่ค่อยออม” 
เป็น “ออมก่อน... เหลือเท่าไหร่ค่อยใช้”


เนื้อหาในบทนี้


1.จุดประสงค์ และรูปแบบการออมเงิน

หลังจากที่เราเริ่มรู้จักการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย สิ่งต่อมาที่ควรทำ คือ การออม การแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเก็บสะสมไว้จะช่วยให้พาร์ทเนอร์มีเงินก้อนไว้ใช้ ไม่ว่าจะสำหรับยามฉุกเฉิน ยามเกษียณ แผนการในอนาคต หรือการลงทุน หากไม่อยากรู้สึกว่าการออมเป็นภาระจนเกินไป ลองเริ่มเดือนละ 10% ของรายได้ก่อน มีสิ่งหนึ่งที่เราอยากแนะนำและคุณควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือ “แยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีทั่วไป” ไม่ควรนำเงินทั้งหมดมากองรวมไว้ในบัญชีเดียวกัน ก็เพราะธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน เมื่อมีเงินอยู่ในมือ ก็มักจะมีเรื่องให้ใช้จ่ายได้ตลอดเวลา หากใช้เพลิน ใช้แล้วยังเห็นว่ามีเงินเหลืออยู่ ก็จะใช้อีก สุดท้ายก็หมด

weath_saving_1-n.png

4 ประเภทเงินออมเพื่อเป้าหมายของชีวิต

1.บัญชีฉุกเฉิน
เงินก้อนนี้เก็บไว้สำหรับเรื่องราวไม่คาดฝันต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย ขึ้นโรงขึ้นศาล หรือตกงานกะทันหัน คุณควรมีเงินก้อนนี้ติดบัญชีไว้บ้างสัก 6 เท่าของค่าใช้จ่าย อย่างน้อยหากเข้าตาจน เงินก้อนนี้ก็น่าจะพอเยียวยาชีวิตคุณได้บ้าง
2.บัญชีเงินออม: ระยะสั้นถึงระยะกลาง
ถ้าคุณตั้งใจจะเก็บเงินสักก้อนไว้ดาวน์บ้าน ดาวน์รถ ท่องเที่ยว หรือเก็บเงินไว้เป็นสินสอดทองหมั้นเพื่อแต่งงานกับคนรัก ก็ควรจะเจียดเงินออมส่วนหนึ่งมาเข้าบัญชีนี้ เพื่อเป็นบันไดให้คุณก้าวเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นใจ
3.บัญชีเงินออม: ระยะยาว
เป็นบัญชีเงินออมเพื่ออนาคตที่คุณควรเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ หรือไม่ก็เป็นค่าเล่าเรียนของลูกยามที่เขาเติบโต เงินก้อนนี้ต้องใช้ความตั้งใจและวินัยในการออมสูง จึงต้องกันเงินไว้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ... เมื่อใส่เงินเข้าไปในบัญชีนี้แล้ว “จงลืมมัน” คิดเสียว่าเป็นตายร้ายดี ก็จะไม่ยอมถอนเงินก้อนนี้ไปใช้เด็ดขาด
4.บัญชีเพื่อการลงทุน
หากชีวิตนี้คุณเคยแต่ฝากเงินไว้กับธนาคารเพียงอย่างเดียว ลองเปิดหูเปิดตาให้กว้างไกล แล้วแบ่งเงินมาเข้าบัญชีนี้ดูบ้าง วันละนิดวันละหน่อยก็ยังดี เมื่อมีเงินเป็นกอบเป็นกำ ค่อยถอนไปลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อให้เงินทำงาน สร้างเงินให้กับเรา


2.ตัวช่วยเรื่องการมีวินัยในการออมเงิน

การออมเงินสามารถไว้ในรูปแบบที่มีสภาพคล่อง สามารถถอนเงินออกมาใช้เมื่อใดก็ได้ เช่น บัญชีออมทรัพย์ แต่หากต้องการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณ หรือเพื่อแผนการในอนาคตอาจเลือกฝากเงินไว้ใน บัญชีฝากประจำรายเดือน แบบปลอดภาษีในระยะเวลาที่ต้องการ การออมในรูปแบบนี้จะช่วยฝึกวินัยทางการเงินที่ดีให้กับพาร์ทเนอร์ เนื่องจากจะต้องฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน และจะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ก่อนครบระยะเวลาที่กำหนดได้

โดยสามารถศึกษาข้อมูลบัญชีเงินฝากประจำจากธนาคาร โดยเลือกบัญชีที่มีระยะเวลาฝากประจำใกล้เคียงกับระยะเวลาที่พาร์ทเนอร์ต้องการออมมากที่สุด สำหรับพาร์ทเนอร์ที่ต้องการออมระยะสั้น-กลาง แกร็บขอแนะนำ บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์แบบปลอดภาษีจากธนาคารกสิกรไทย ที่มีระยะเวลาฝาก 24 เดือน โดยกำหนดเงินฝากขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาท และต้องฝากเป็นจำนวนที่เท่ากันทุกเดือนตลอดระยะเวลาฝากที่กำหนด ส่วนผลตอบแทนที่พาร์ทเนอร์จะได้รับคืออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 2.25% ต่อปี

highlight-m.jpg

รายละเอียดบัญชี

  • ฝากเท่ากันทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง เป็นจำนวนเงินเท่ากับที่เปิดบัญชีครั้งแรก โดยจะได้รับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝาก

  • ขาดการฝากได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการฝาก

  • หากขาดการฝากตั้งแต่ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ธนาคารจะไม่รับฝากเงินฝากทวีทรัพย์ในงวดที่เหลือต่อไป และจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ตามประกาศของธนาคาร และหักภาษี ณ ที่จ่าย

  • มีสิทธิ์ขอยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากประเภทนี้ได้เพียงคนละ 1 บัญชีเท่านั้น

การเปิดบัญชี

ตารางการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์บัญชี

รายละเอียด
-เปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท โดยนำฝากในจำนวนเท่ากันทุกเดือน ติดต่อกัน 24 เดือน

คุณสมบัติ
- บุคคลธรรมดาอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- บิดาหรือมารดาสามารถเปิดบัญชีเพื่อบุตรผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี

ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.set.or.th/set/financialplanning/lifeevent.do?name=wealth_saving&innerMenuId=1

 

 

นอกจากนี้ เงินฝากประจำปลอดภาษีจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยกำหนดเงินฝากขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาท และต้องฝากเป็นจำนวนที่เท่ากันทุกเดือนตลอดระยะเวลาฝากที่กำหนด โดยได้รับอัตราดอกเบี้ย 1.30% สำหรับเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน

bay.JPG

รายละเอียดบัญชี

  • ง่ายๆ แค่ฝากเงินจำนวนเท่ากับจำนวนเงินที่เปิดบัญชีเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ระยะเวลา 24 เดือน และ 36 เดือน สำหรับบุคคลธรรมดา

  • ผ่อนผันการขาดฝากไม่เกิน 2 งวด ตลอดระยะเวลาการฝาก

  • สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท (สำหรับเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน) หรือสูงสุดไม่เกิน 16,000 บาท (สำหรับเงินฝากประจำปลอดภาษี 36 เดือน)